ฝึกโยคะทั้งที ต้องฝึกอะไรบ้าง

Share : facebook_share line_share twitter_share messenger_share

ฝึกโยคะทั้งที ต้องฝึกอะไรบ้าง



โยคะ (Yoga) เป็นวิธีการแห่งการมีสุขภาพดี เป็นที่ได้รับความนิยมในกลุ่มของสาว ๆ อย่างแพร่หลาย เพราะมีประโยชน์ทั้งด้านสุขภาพกายและจิตใจ ได้ฝึกโยคะแล้วมีความสุข ดังนั้นมาดูกันดีกว่าว่าอยากจะเล่นจะฝึกทั้งที มีวิธีในการฝึกอย่างไรบ้าง

 

1. ฝึกทางกาย (ท่าอาสนะ)

     อาสนะ (Asana) คือ ท่าฝึกโยคะทางกายบริหาร เพื่อสร้างความสมดุลให้กับร่างกาย เพิ่มความยืดหยุ่น ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย และทำให้ระบบกระดูกสันหลังแข็งแรง รวมถึงทำให้จิตใจได้ผ่อนคลาย มีสมาธิ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ เพื่อสมาธิ เพื่อสร้างสมดุล และเพื่อการผ่อนคลาย

  • อาสนะเพื่อสมาธิ : เป็นอิริยาบถที่ทำให้ร่างกายตั้งตรง อยู่ได้อย่างมั่นคงเป็นเวลานาน ทั้งลำตัว คอ และศีรษะ โดยไม่ฝืน
  • อาสนะเพื่อสร้างสมดุล : เป็นการเหยียดร่างกายแล้วนิ่ง มีความยืดหยุ่น และช่วยให้กล้ามเนื้อหลังต่าง ๆ ยืดหยุ่น
  • อาสนะเพื่อการผ่อนคลาย : เป็นอิริยาบถในท่านอน มีวัตถุประสงค์เพื่อการผ่อนคลายทั้งกายและใจ

ท่าอาสนะ สามารถแบ่งออกเป็น 5 ท่า ได้แก่ ท่าอุ่นเครื่อง (ท่าผ่อนคลาย) ท่ายืน ท่านั่ง ท่าบนพื้น และท่าเอี้ยวตัว

 

2. ฝึกหายใจ (ฝึกลมปราณ)

     การฝึกหายใจเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะการหายใจให้ถูกวิธีเป็นการยกระดับแห่งคุณค่าของการฝึกในท่าอาสนะให้สูงขึ้น เป็นการฝึกเพื่อควบคุมการหายใจให้สามารถหายใจได้ลึกกว่าเดิมและยาวกว่าเดิม

วิธีการหายใจที่ใช้ในการฝึกโยคะทำได้ 3 วิธี คือ

1) การหายใจเข้า - ออก สลับกับการเปลี่ยนท่า

     มีลักษณะเหมือนการฝึกลมปราณขั้นต้น วิธีการหายใจจะเน้นให้หายใจเข้า แล้วปฏิบัติตามท่า จากนั้นก็หายใจออก ขณะที่หายใจออกก็คลายท่าไปด้วย ทำการฝึก 4 - 6 ลมหายใจ ซึ่งใช้เวลาประมาณ10 วินาที

2) การหายใจเข้าก่อนเริ่มทำท่าโยคะ

     ก่อนเริ่มทำท่าโยคะให้หายใจเข้าให้เต็มที่แล้วกลั้นหายใจ จากนั้นจึงทำท่าโยคะ เมื่อทำท่าฝึกเสร็จก็หายใจออกและหายใจปกตินานตามที่ต้องการ เมื่อจะเปลี่ยนท่าอีกครั้งให้หายใจเข้าให้เต็มที่กลั้นหายใจแล้วจึงคลายท่า วิธีนี้ฝึกง่ายและเป็นที่นิยม

3) การหายใจให้สอดคล้องกับท่าโยคะ

     หากท่าโยคะไหนที่ทำให้ปอดขยายก็ให้หายใจเข้า ท่าไหนที่ทำให้ปอดเล็กลงก็ให้หายใจออก ท่าที่ต้องหายใจเข้า คือ ท่ายกแขนขึ้น การเงยตัว การยืดตัวขึ้น การแอ่นอก ส่วนท่าที่ต้องหายใจออก คือ ท่าที่ยกแขนลง ท่าที่มีการบิดตัว การฝึกหายใจให้สอดคล้องกับท่าจะมีความยาก เพราะจะต้องจำท่าการฝึก และต้องจำได้ว่าจะหายใจเข้า - ออกตอนไหน

     ซึ่ง 3 วิธีที่ได้บอกไปนั้น สามารถใช้กับการฝึกโยคะได้ทั้งหมด อยู่ที่ผูฝึกว่าต้องการเลือกวิธีหายใจแบบใด

 

3. ฝึกทำสมาธิ

     การฝึกทำสมาธิ คือ การที่ให้คุณอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับสิ่งที่ทำอยู่ ไม่นึกถึงอดีต หรือ อนาคต ซึ่งการฝึกทำสมาธิเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อใดที่คุณเริ่มทำได้สักครั้งหนึ่ง คุณจะรู้สึกจิตใจสงบขึ้น มีอารมณ์มั่นคง มีความผ่อนคลาย วางจากความเครียดที่เกิดจากภายในและภายนอกได้ การฝึกโยคะทำให้จิตมีสมาธิ รวมไปถึงร่างกายและจิตมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน

 

     การฝึกโยคะ ทำให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย ทำให้จิตใจสงบ มีชีวิตชีวา ทำให้คนที่ได้ฝึกรู้สึกว่าการฝึกโยคะนั้นเป็นช่วงเวลาแห่งการผ่อนคลาย ได้สัมผัสพลังแห่งชีวิต มีความอ่อนช้อย นุ่มนวล ไม่มีอาการหอบ ไม่ก่อให้เกิดอาการเคล็ดขัดยอก และไม่เจ็บปวด จึงมีความสุขที่ได้มาฝึกเรื่อย ๆ จนกลายเป็นที่นิยม

 

ด้วยความห่วงใยจาก eclipse studio bkk

ขอขอบคุณข้อมูลจาก birdofyoga



บทความที่น่าสนใจ

ท่าพื้นฐานของ โยคะ ที่มาพร้อม ประโยชน์ ที่คุณควรทำ
ชีวิตดีขึ้นได้ ด้วย โยคะ