แก้ปัญหาสุขภาพ ด้วย โยคะ

Share : facebook_share line_share twitter_share messenger_share

แก้ปัญหาสุขภาพ ด้วย โยคะ



ออฟฟิศซินโดรม คืออาการยอดนิยมของสาวออฟฟิศที่มักจะปวดไหล่ ปวดหลัง หรือชอบนั่งทำงานอยู่กะที่เป็นเวลานานๆ บางคนถึงขนาดต้องพึ่งเครื่องกายภาพย่อส่วนมารักษา แต่ความจริงแล้ว โยคะ ก็สามารถแก้ปัญหานี้ได้นะ

 

     สาวๆ ออฟฟิศทั้งหลายคงจะน่าเห็นใจน่าดู หากต้องทำงานอยู่กะที่เป็นเวลานานๆ แล้วต้องมาปวดไหล่,  ปวดหลัง, ปวดสะบัก, ท้องอืดท้องเฟ้อ หรือจากการใส่รองเท้าส้นสูง สาวๆ บางคนมีวิธีแก้ไขปัญหาด้วยการใช้เครื่องมือรักษาทางกายภาพ แบบย่อส่วน มาใช้บรรเทาอาการปวด "ออฟฟิศซินโดรม" ของตัวเอง แต่ความจริงแล้ว การเล่น โยคะ ก็สามารถรักษาและบรรเทาอาการปวดเหล่านี้ได้ ซึ่ง โยคะ มีท่าบริหารต่างๆ ที่สามารถรักษาอาการ "ออฟฟิศซินโดรม" และอาการปวดตามส่วนต่างๆ ตามร่างกาย ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

 

     แก้ปัญหาสุขภาพ ด้วย "โยคะ" เรามีข้อมูลมาแนะนำให้ทั้งหมด 3 ท่า จะมีท่าอะไรและรักษาอาการอะไรบ้างนั้น เราไปติดตามรายละเอียดกับบทความในวันนี้กันเลย

 

ท่าที่ 1 "อโธมุขะ ศวานาสนะ" แก้อาการเมื่อยล้า ปวดหลัง และออฟฟิศซินโดรม

     "อโธมุขะ" แปลว่า หน้าก้มลง ส่วน "ศวานะ" แปลว่า สุนัข ท่านี้จึงคล้ายกับสุนัขยืดตัว โดยหัวและขาหน้าอยู่ต่ำ ส่วนขาหลังอยู่สูง จึงเป็นที่มาของชื่ออาสนะ

 

วิธีปฏิบัติ

1. นอนคว่ำหน้าบนพื้น แยกเท้าห่างกัน 1 ฟุต

2. วางฝ่ามือบนพื้นข้างอก นิ้วมือเหยียดตรง และชี้ไปทางศีรษะ

3. หายใจออกพร้อมกับยกลำตัวขึ้นจากพื้น เหยียดแขนและเคลื่อนตัวไปทางปลายเท้า วางกระหม่อมลงบนพื้น พยายามให้ข้อศอกเหยียดและยืดหลัง

4. เกร็งขาโดยไม่ให้เข่างอ กดส้นเท้าลง ส้นเท้าและฝ่าเท้าควรแนบตรง โดยให้เท้าทั้ง 2 ข้างขนานกัน นิ้วเท้าชี้ไปข้างหน้า

5. ค้างอยู่ในท่วงท่าประมาณ 1 นาทีโดยหายใจลึก จากนั้นหายใจพร้อมกับยกศีรษะขึ้นจากพื้น ยืดลำตัวไปข้างหน้า และค่อยๆ ลดลงสู่พื้นและผ่อนคลาย

 

ประโยชน์

     เวลารู้สึกอ่อนล้า การค้างอยู่ในท่านี้นานขึ้น จะช่วยขจัดความรู้สึกเหนื่อยล้า และทำให้พลังที่สูญเสียไปกลับคืนมา โดยเฉพาะท่านี้มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับนักวิ่งที่เหน็ดเหนื่อยจากการแข่งขันอย่างหนัก นักกระโดดสูงจะพัฒนาความเร็ว และรู้สึกว่าขาเบา นอกจากนี้การฝึกอาสนะนี้ จะช่วยขจัดอาการสะบักตึง และบรรเทาอาการปวดไหล่เนื่องจากข้ออักเสบ

 

ท่าที่ 2 "ปาทางคุษฐาสนะ" แก้อาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ

     "ปาทะ" แปลว่า เท้า ส่วน "อังคุษฐะ" หมายถึง นิ้วหัวแม่เท้า ท่านี้เป็นท่ายืนก้มตัว มือจับนิ้วหัวแม่เท้า

 

วิธีปฏิบัติ

1. ยืนในตาฑาสนะ แยกขาห่างกันประมาณ 1 ฟุต

2. หายใจออก ก้มตัวไปข้างหน้า และใช้นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้และนิ้วกลางจับนิ้วหัวแม่เท้าให้มั่น ฝ่ามือหันเข้าหากัน

3. ยกศีรษะขึ้น ยืดกะบังลมเข้าหาทรวงอก และแอ่นหลังให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เวลาก้มตัวในท่านี้ ให้ก้มตัวจากเชิงกรานแทนที่จะก้มจากไหล่เพื่อให้หลังแอ่นจากบริเวณก้นกบ

4. พยายามเหยียดขาตึง อย่าให้เข่าและนิ้วหัวแม่เท้าที่ยึดไว้คลายออก และเหยียดยืดบริเวณสะบักด้วยเช่นกัน ค้างอยู่ในท่วงท่า 1-2 รอบหายใจ

5. หายใจออก ก้มศีรษะลงไปอยู่ระหว่างเข่าทั้ง 2 ข้าง โดยรั้งเข่าตึงและดึงนิ้วเท้าโดยไม่ให้นิ้วเท้ายกขึ้นจากพื้น ค้างอยู่ในท่วงท่านี้ 20 วินาทีโดยหายใจตามปกติ

6. หายใจเข้าพร้อมกับสู่ท่าในข้อ 2 ปล่อยมือจากนิ้วเท้าและยืดตัวขึ้น กลับสู่ตาฑาสนะ

 

ประโยชน์

     อวัยวะในช่องท้องจะได้รับการเสริมสร้างและช่วยเพิ่มการหลั่งของน้ำย่อย ตับและม้ามได้รับการกระตุ้น ผู้ที่มีอาการท้องอืด หรือมีปัญหาเกี่ยวกับน้ำย่อย จะได้รับประโยชน์จากการฝึกอาสนะ นอกจากนี้ ท่านี้จะช่วยปรับแก้หมอนรองกระดูกที่เคลื่อน อย่างไรก็ตามผู้ที่หมอนรองกระดูกเคลื่อน ไม่ควรก้มศีรษะ ลงไปอยู่ระหว่างเข่าโดยเด็ดขาด

 

ท่าที่ 3 "นาวาสนะ" กำจัดไขมันรอบเอว

     ท่านี้คล้ายกับเรือซึ่งมีไม้พาย จึงเป็นที่มาของชื่อ "นาวาสนะ"

 

วิธีปฏิบัติ

1. นั่งลงบนพื้น ขาเหยียดไปข้างหน้า วางฝ่ามือบนพื้นข้างสะโพก ชี้ไปทางปลายเท้า เหยียดมือและยืดหลังตรง

2. หายใจออก เอนลำตัวไปข้างหลังเล็กน้อย พร้อมกับยกขาขึ้นจากพื้น เกร็งขาเต็มที่โดยให้เข่าตึง นิ้วเท้าชี้ไปข้างหน้า ทรงตัวบนก้นโดยไม่ให้หลังแตะพื้น ขาทำมุมกับพื้น 60 หรือ 65 องศา โดยให้เท้าอยู่สูงกว่าระดับศีรษะ ถ้าเท้าสูงระดับเดียวกับศีรษะจะเป็น อรรธะ นาวาอาสนะ

3. ยกมือขึ้นจากพื้น และเหยียดแขนไปข้างหน้า โดยให้ขนานกับพื้นอยู่ใกล้ต้นขา ฝ่ามือหันเข้าหากันและอยู่ในระดับเดียวกับไหล่

4. ค้างอยู่ในท่วงท่าครึ่งนาที โดยหายใจตามปกติ หลังจากผ่านไปเพียง 20 วินาที ก็จะรู้สึกถึงผลของท่วงท่า

5. หายใจออกลดแขนลง และหย่อนขาลงสู่พื้น ก่อนจะผ่อนคลายในท่านอนหงาย

 

ประโยชน์

     "นาวาสนะ" นี้ช่วยบรรเทาอาการท้องอืด เนื่องจากมีลมในท้อง และช่วยลดปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ยังลดไขมันรอบเอวและทำให้ไตแข็งแรงด้วย

 

     "โยคะ" สามารถใช้ท่าเหล่านี้ในการดูแลปัญหาสุขภาพได้ สาวๆ ออฟฟิศอย่าลืมหาเวลาไปบริหารท่า โยคะ กันนะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก thairath

 

อ่านบทความเพิ่มเติม

- ท่าโยคะตามราศี แก้ไขปัญหาสุขภาพ

- ท่าโยคะแก้ปวดหลัง แบบง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้



บทความที่น่าสนใจ

โยคะบำบัดคืออะไร
โยคะ เพื่อชาวออฟฟิศ