สุขกาย สุขใจ กับโยคะ

Share : facebook_share line_share twitter_share messenger_share

สุขกาย สุขใจ กับโยคะ



สุขกาย สุขใจ กับโยคะ

 

ในแต่ละวันมีเรื่องให้เหนื่อยกายเหนื่อยใจไม่ซ้ำกัน ไม่ว่าจะรถติด อากาศแปรปรวน เจอคนหน้าหงุดหงิด คุยงานไม่รู้เรื่อง เจ้านายด่า ลูกค้าบ่น เดินสะดุด ทุกอย่างนี้ล้วนทำให้ใครหลายคนต้องเครียดจนทำอะไรไม่ถูก แต่ไม่น่าเชื่อ ว่า โยคะ จะช่วยทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นมาได้

 

โยคะ คืออะไร

โยคะ คือศาสตร์โบราณที่ถือกำเนิดในประเทศอินเดียมากว่า ๕,๐๐๐ ปี เป็นการฝึกตนเอง เพื่อปรับสมดุลระหว่างกายกับใจ เพื่อพัฒนาศักยภาพ ความเป็นมนุษย์ในตัวผู้ฝึกสู่ความสามารถสูงสุด ศักยภาพในที่นี้ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงศักยภาพทางจิตใจด้วย ซึ่งในปัจจุบันศาสตร์ที่ทรงคุณค่าสาขานี้ ได้แพร่หลายออกจากอินเดียไปสู่ทุกประเทศ ทั้งตะวันตก ตะวันออก ในประเทศไทยเองก็มีสถาบันโยคะวิชาการ เป็นผู้บุกเบิกนำโยคะสายสถาบันไกวัลยธรรม มาเผยแพร่แก่ประชาชนทั่วไป

 

สิ่งที่จะได้จากการฝึกโยคะ

  • การรวมกายกับจิตเข้าด้วยกัน หมายถึง การมีสติรู้อยู่กับกายตลอดเวลา เป็นจุดสำคัญของการฝึกโยคะ ที่ผู้ฝึกต้องกำหนดจิตให้รู้ตัวว่าตนเองทำอะไรอยู่ทุกขณะจิต
  • ความสมดุล การฝึกโยคะ เป็นการสร้างสมดุลให้เกิดขึ้น ทั้งสมดุลระหว่างกายกับใจของตนเอง และสมดุลระหว่างตนเองกับสิ่งแวดล้อม
  • การพัฒนาจิต กระบวนการของโยคะเป็นการฝึกจิต โยคะทำให้จิตเกิดสมาธิ สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิอยู่กับกาย ก็จะสามารถมองเห็นปัญหา หรือสิ่งที่จะเกิดได้ง่ายขึ้น

 

พื้นฐาน โยคะ 6 ประการ

  1. อาสนะ คือการฝึกฝนร่างกายด้วยท่าต่างๆ เหมือนกับที่ผู้อ่านหลายท่านเคยเห็น เช่น ท่าศพ ท่างู ท่านั่งเพชร ท่ากงล้อ เป็นต้น โดยในแต่ละท่าจะให้ประโยชน์แก่ร่างกายแตกต่างกันออกไป การทำอาสนะนั้น ผู้ฝึกจะต้องรู้สึกสบายกาย จิตนิ่ง ใช้แรงแต่น้อย มีสติใช้จิตรับรู้ทุกการเคลื่อนไหวของร่างกาย
  2. ปราณยามะ คือการฝึกควบคุมลมหายใจ มีสติรับรู้ลมหายใจของตนเอง หายใจเข้าให้รับรู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกให้รับรู้ว่าหายใจออก
  3. พันธะและมุทรา คือการเกร็งแล้วคลายกล้ามเนื้อในบางส่วน โดยใช้จิตรับรู้ทุกการเกร็งและคลายกล้ามเนื้อส่วนนั้น จะมีผลทำให้เกิดการผ่อนคลายกล้ามเนื้อและจิต
  4. กริยา คือการชำระล้าง
  5. สมาธิ คือการกำหนดจิตให้จดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ ไม่ว่าจะเป็นท่าทาง ลมหายใจ หรือการเกร็งกล้ามเนื้อ ในการฝึกโยคะนั้น หากผู้ฝึกไม่สามารถกำหนดจิตให้มีสมาธิได้ ก็เท่ากับว่าการฝึกนั้นล้มเหลว
  6. การฝึกอบรมทัศนคติ คือการมีศีลและวินัยในการปฏิบัติ

 

ข้อควรปฏิบัติ 8 ประการ

  1. ยามะ หรือศีล 5 หลายคนคงแปลกใจเมื่อรู้ว่าการเริ่มต้นฝึกโยคะ ต้องเริ่มจากการถือศีล 5 ของโยคะ คือ อหิงสา ไม่ลักทรัพย์ ไม่พูดปด ประพฤติพรหมจรรย์ และไม่ยึดมั่นถือมั่นกับวัตถุมากเกินไป ซึ่งเป็นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ทีเดียว
  2. นิยามะ หรือวินัย 5 คือ เมื่อมีศีลที่ทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันโดยไม่เบียดเบียนแล้ว จากนั้นต้องมีการสร้างวินัย 5 ให้กับตนเองดังนี้ อดทน สันโดษ ชำระกายใจให้บริสุทธิ์ หมั่นศึกษาตนเอง และมีศรัทธา
  3. อาสนะ หรือการดูแลร่างกาย คือ เมื่อจิตใจตั้งอยู่ในศีลกับวินัยแล้ว ต้องมีการดูแลตนเองด้วย อาสนะไม่ใช่การออกกำลังกายอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นการปรับสมดุลให้กับระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ขั้นตอนในการฝึกอาสนะ ได้แก่ การเตรียมพร้อม ฝึกท่าอาสนะ ปิดท้ายด้วยการผ่อนคลาย
  4. ปราณยามะ หรือการฝึกลมหายใจ คือ เมื่อร่างกายสมดุลเป็นปกติ ก็พร้อมต่อการฝึกควบคุมลมหายใจ เพื่อควบคุมกลไกระบบประสาทอัตโนมัติของตนเอง ลำดับขั้นของการฝึกลมหายใจ คือ เข้าใจระบบหายใจของตนเอง มีสติรู้ลมหายใจของตนเองตลอดเวลา หายใจช้าลง เพื่อให้ลมหายใจสงบขึ้น
  5. ปรัทยาหาระ หรือสำรวมอินทรีย์ คือ เมื่อร่างกายนิ่ง ลมหายใจสงบ จากนั้นจะเป็นการฝึกควบคุมอารมณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่มักจะปรวนแปรไปตามสิ่งเร้าต่าง ๆ หากจะกล่าวให้ง่ายขึ้น คือการควบคุมประสาททั้ง 5 ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส
  6. ธารณะ หรือการเพ่งจ้อง คือ เมื่อมีอารมณ์ที่มั่นคง จึงเริ่มอบรมจิต ธารณะเป็นการฝึกอบรมจิตให้นิ่ง จิตนิ่งสงบจะเป็นจิตที่มีประสิทธิภาพ ทำให้กิจกรรมต่าง ๆ สำเร็จขึ้นโดยง่าย
  7. ฌาน คือ จิตที่ผ่านการอบรมอย่างสม่ำเสมอ จนสามารถดื่มด่ำอยู่กับสิ่งที่ทำ เป็นจิตที่รู้เห็นตามความเป็นจริงของโลก ไม่หลงทางอยู่ในรูป รส กลิ่น เสียง
  8. สมาธิ ในที่นี้จะมีความแตกต่างจากสมาธิของศาสนาพุทธเล็กน้อย สำหรับโยคะแล้ว สมาธิ คือผลสูงสุดที่ได้จากการฝึกโยคะ เป็นการรวมกายและใจเข้าเป็นหนึ่งเดียว (โยคะแปลว่าการรวมเป็นหนึ่ง ) เกิดเป็นภาวะโมกษะ หรือภาวะแห่งความหลุดพ้น เป็นอิสระจากเครื่องพันธนาการทั้งปวง คือความต้องการสูงสุดของมนุษย์ทุกหมู่ชน

 

การฝึกโยคะเองก็มีหลายรูปแบบ หลายวิธีการ บางคนฝึกโยคะเพื่อการออกกำลังกาย บางคนฝึกเพื่อสงบจิตสงบใจ และก็ไม่น่าเชื่อที่โยคะ จุทำให้เรารู้สึกสุขกาย สุขใจ ได้อย่างบอกไม่ถูก ไม่ว่าจะฝึกเพื่ออะไร ล้วนเป็นผลดีต่อตัวผู้ฝึกทั้งนั้น

 

อ่านบทความเพิ่มเติม

Yoga Fly ต่างจาก Yoga ธรรมดายังไง

เด็ก ๆ กับ โยคะ



บทความที่น่าสนใจ

ใครบอกว่า คนท้อง เล่น โยคะ ( yoga ) ไม่ได้
โยคะ ( Yoga ) ช่วยแก้ปวดประจำเดือน