องค์แปดแห่ง โยคะ (Eight lims of yoga)

Share : facebook_share line_share twitter_share messenger_share

องค์แปดแห่ง โยคะ (Eight lims of yoga)



การฝึก โยคะ ไม่ใช่เพียงแค่เป็นการฝึกปฏิบัติท่าทางทางกายเท่านั้น แต่หากลงลึกไปถึงหลักโยคะจริง ๆ จะทำให้ผู้เล่นโยคะ สามารถตั้งอยู่บนฐานของศีลธรรม อันจะเห็นได้จาก องค์แปดแห่งโยคะ ที่เป็นหลักการปฏิบัติตนของโยคี ซึ่งองค์แปดแห่งโยคะ มีดังนี้

 

องค์ที่ 1 : ยมะ ( Yama )

หมายถึง การละเว้นความชั่ว 5 ประการ อันได้แก่

  • อหิงสา คือ ความไม่เบียดเบียน ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต หรือทำร้ายผู้อื่นให้ได้รับความเจ็บปวด ทั้งทางกาย วาจาและใจ
  • สัตยา คือ การพูดความจริง
  • อัสเตยะ คือ การละเว้นจากการลักขโมย
  • พรหมจรรย์ คือ ความอดกลั้นต่อเรื่องเพศ หรือ ความไม่มักมากในกามคุณ
  • อปริคาหะ คือ การไม่มีความโลภ

 

องค์ที่ 2 : นิยมะ ( Niyama )

หมายถึง การประพฤติความดี 5 ประการ อันได้แก่

  • เศาจะ คือ ความสะอาดบริสุทธิ์ ทั้งร่างกายและจิตใจ
  • สันโดษ คือ การยินดีในสิ่งที่ตนเองมีอยู่แล้ว
  • ตบะ คือ การบำเพ็ญเพียร เพื่อข่มกิเลสทั้งปวง และตั้งจิตอยู่ในอุเบกขา (การปล่อยวาง)
  • สาธยาย คือ ความขวนขวายในการเรียนรู้
  • อิศวรประนิธาน คือ การตั้งทางจิตสู่พระเป็นเจ้า หรือสิ่งสูงสุด เช่น พระรัตนตรัย

 

องค์ที่ 3 : อาสนะ ( Asana )

หมายถึง ท่าบริหารกายต่าง ๆ ให้เกิดความคงทนและสมดุล เพื่อให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ จะได้คงทนต่อการบำเพ็ญเพียรในขั้นต่อ ๆ ไป เพราะตามหลักของโยคะ ถือว่า กายกับจิต เป้นสิ่งที่อยู่ทับกัน จะมีกายอันหนึ่ง หรือจิตอีกอันหนึ่งแยกจากกัน ย่อมไม่ได้ จิตใจจะสมบูรณ์ได้ต้องอาศัยความสมบูรณ์ของกายก่อนเป็นสิ่งสำคัญ

 

ซึ่งอาสนะ หรือท่าบริหารกายต่าง ๆ ตามหลักโยคะนั้น ไม่ต้องการความแข็งแกร่งของร่างกายมากเหมือนกับการออกกำลังกายทั่วไป หากประสงค์จะเกิดความอดทน ทั้งร่างกายและจิตใจเป็นสำคัญ ด้วยความอดทน 3 ประการ คือ ทนต่อความหิวโหย ทนต่อความเจ็บปวด และทนต่อความตาย ซึ่งหมายถึง ความมีอายุยืน

 

องค์ที่ 4 : ปราณยามะ ( Pranayama )

หมายถึง การควบคุมลมหายใจ หรือบังคับลมปราณของผู้ปฏิบัติโยคะ เป็นการกำหนดรู้ของลมที่เราจะเชื่อนโยง กาย จิต และอารมณ์ให้สมดุล จึงถือว่า ขั้นนี้เป็นขั้นสำคัญที่สุดในการที่จะก้าวขึ้นสู่ขั้นสูงต่อ ๆ ไป เนื่องจาก การหายใจคือชีวิต และ พลังงาน  กระบวนการหายใจ จึงมีความสำคัญต่อร่างกาย

 

องค์ที่ 5 : ปรัตยาหาระ ( Pratyahara )

หมายถึง การกระทำให้ความรู้สึกจากการมากระทบทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 ( ตา หู จมูก ลิ้น กาย ) และจิตใจ และถอนอินทรีย์เหล่านั้นออกจากอารมณ์ เป็นการต่อสู้ระหว่างกำลังภายในที่โยคีได้บรรลุมาแล้วกับอิทธิพลภายนอกด้วยการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ดังนั้น ปรัตยาหาระ จึงเท่ากับเป็นสะพานระหว่างที่อยู่ของปถุชน และที่อยู่ของพระอริยะ และจัดไว้อยู่ในขั้นเตรียมการที่จะบรรลุขั้นสูงอีกสามขั้นต่อไป

 

องค์ที่ 6 : ธารณะ ( Dharana )

หมายถึง การกระทำดวงจิตให้มั่นคง ทำให้เกิดความสามารถในการบังคับจิตให้มั่นคง และเที่ยงด้วยการเพ่งโดยกำจัดสิ่งอื่น ๆ ที่ไม่ใช่วัตถุแห่งการเพ่งให้หมดไปโดยสิ้นเชิง ธารณะเทียบได้กับอาสนะในแง่ที่ว่า ธารณะ เป็นการออกกำลังกายทางจิต เพื่อบังคับให้ได้ตามความต้องการ ส่วนอาสนะ เป็นการออกกำลังทางกาย เพื่อบังคบให้เป็นไปตามความต้องการเช่นเดียวกัน

 

องค์ที่ 7 : ธยานะ ( Dhyana )

หมายถึง จิตใจที่สงบนิงต่อไปเรื่อย ๆ ขั้นนี้เป็นขั้นที่ทำลายความนึกคิดอันเป็นวัตถุให้สิ้นไปโดยเด็ดขาดเหมือนกระจกเงา ดังที่ได้ยกขึ้นมาเปรียบเทียบแล้ว ซึ่งได้แก่ ธารณะ สะท้อนให้เห็นแสงสว่างที่อยู่ในนั้น คือ ธยานะ หรือถ้าอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ก็คือ การทำธารณะ (องค์ที่ 6) ให้มีความต่อเนื่อง ไปเรื่อย ๆ นั่นเอง

 

องค์ที่ 8 : สมาธิ ( Samadhi )

หมายถึง ความคงที่ของจิต ขั้นนี้เป็นขั้นสุดท้ายและสูงสุดของโยคะ ซึ่งอาจสมมติเป็นการเปรียบเทียบได้ว่าในความฝันของเรา เราฝันว่าเราได้ถูกมัดจองจำอยู่ เมื่อตื่นขึ้นมาเราก็รู้สึกว่าเราหาได้เป็นผู้ถูกมัดจำจองแต่ประการใดไม่ ( คือ บรรลุแล้วซึ่งสมาธิ) และความเป็นตนที่ถูกผูกมัดนั้นได้ดับไปแล้วอย่างสนิท

 

การฝึกโยคะ เมื่อปฏิบัติไปได้ครบองค์ 8 ประการ จะทำให้ผู้ฝึกมีภูมิอันสูงส่ง ทั้งร่างกาย และจิตใจ อันจะนำไปสู่การเป็นอิสระจากกิเลสหรือสิ่งผูกมัดทั้งปวง ทำให้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขทั้งทางกายและจิตใจได้เป็นอย่างดี

 

 

 

อ่านบทความเพิ่มเติม

ทำความรู้จักกับ หยินโยคะ ( Yin Yoga )

7 ท่าพื้นฐาน สำหรับ หยินโยคะ



บทความที่น่าสนใจ

โยคะ ท่างู ( Cobra Yoga ) ตัวช่วยทำให้รูปร่างกระชับ
โยคะ สำหรับคุณแม่ ตั้งครรภ์